รูปกบน้อย+เพื่อนๆ

วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เหตุไม่สงบในอียิปต์เป็นโอกาสทองของนักเล่นหุ้น

                            

ดูไบ 3 ก.พ. - แวดวงตลาดหลักทรัพย์คาดว่า ทันทีที่ตลาดหลักทรัพย์อียิปต์เปิดการซื้อขายอีกครั้ง หลังจากปิดไปตั้งแต่วันพฤหัสบดี จะมีการซื้อขายอย่างคึกคัก เพราะนักลงทุนจะแสวงหากำไรจากหลักทรัพย์ที่ราคาร่วงลงต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค

นักวิเคราะห์ของนายหน้าค้าหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง กล่าวว่า หากตลาดหลักทรัพย์อียิปต์เปิดการซื้อขายครั้งใหม่ โดยไม่มีนายมูบารัคเป็นประธานาธิบดี ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะเห็นการเข้าซื้อหุ้นอย่างคึกคัก แต่หากตลาดเปิดในช่วงที่นายมูบารัคยังเป็นประธานาธิบดี ก็จะเห็นการเทขายอย่างรุนแรง เพราะเป็นโอกาสเดียวที่จะถอนตัว ก่อนเกิดเหตุไม่สงบครั้งใหม่ ดัชนีสำคัญของอียิปต์ร่วงไปร้อยละ 22 ภายใน 3 สัปดาห์ ลงไปแตะ 5,647 จุด ก่อนปิดตลาดในวันพฤหัสบดี ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 28 สัปดาห์

นักวิเคราะห์อิสระรายหนึ่งชี้ว่า เมื่อนายมูบารัคลงจากตำแหน่ง จะเกิดภาวะสุญญากาศอำนาจ แต่ความหวังของชาวอียิปต์ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงก็อาจเป็นเพียง ภาพลวงตา เพราะการปกครองระบอบเผด็จการเป็นอุปสรรคต่อการสร้างฝ่ายค้านที่มีวุฒิภาวะ ในที่สุดแล้วจะมีกลุ่มผู้นำหรือทหารที่สามารถบรรลุข้อตกลงกับฝ่ายค้าน แล้วให้ชาติตะวันตกรับรอง จากนั้นจะมีการเฉลิมฉลองยินดีเพียงชั่วครู่ ก่อนจะกลับไปเผชิญหน้ากับความเป็นจริงที่โหดร้ายอีกครั้ง. - สำนักข่าวไทย


ที่มา: MCOT

สมาคมธนาคารไทยย้ำลดค่าธรรมเนียมโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มแน่

                                       



นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ระบุสมาชิกทุกธนาคารพร้อมปรับลดค่าธรรมเนียมโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มได้ใน ช่วงไตรมาสที่ 1-2 ปีนี้ ตามที่ตกลงไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงระบบภายในเพื่อให้การทำงานรองรับการเปลี่ยน แปลงตามเงื่อนไขใหม่ได้สะดวกขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมธนาคารไทยตกลงกับ ธปท.ว่าจะลดค่าบริการโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มระหว่างธนาคารเดียวกัน แต่ข้ามเขต จากปัจจุบันที่คิดค่าบริการตามวงเงินคือ 10,0000บาท เรียกเก็บ 10 บาทบวกค่าบริการอีกครั้งละ 10 บาท รวมแล้วคิดค่าบริการขั้นต่ำครั้งละ 20 บาทต่อรายการ เปลี่ยนเป็นลดเหลือค่าบริการครั้งละไม่เกิน 15 บาทต่อรายการ และลดค่าบริการการถอนเงินในธนาคารเดียวกัน แต่ข้ามเขต  ซึ่งปัจจุบันคิดค่าบริการตามวงเงิน 10,000 บาท เรียกเก็บ 10 บาท บวกค่าบริการอีกครั้งละ 10 บาท เป็นครั้งละ 20 บาทต่อรายการ เปลี่ยนเป็นลดเหลือไม่เกิน 15 บาทต่อรายการ ซึ่งทั้ง 2 บริการนี้สมาชิกฯ สัญญาว่าจะทำภายใน มี.ค.ปีนี้.-สำนักข่าวไทย


ที่มา: MCOT

ธปท.แนะป้องกันความเสี่ยง เงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวนมากขึ้น

                                  

กรุงเทพฯ 1 ก.พ. - นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยถึงภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายในปี 2554 ว่าจะมีความผันผวนมากขึ้น สะท้อนได้จากค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ค่าเงินบาทอ่อนลงค่อนข้างแรง และกลับแข็งค่าในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน สาเหตุน่าจะมาจากช่วงนี้นักลงทุนไม่แน่ใจกับสถานการณ์ในประเทศอียิปต์ ขณะที่ผลตอบแทนดอกเบี้ย  ตราสารหนี้ในสหรัฐดีขึ้น ทำให้ช่วงนี้เห็นการไหลกลับเข้าออกเร็วของเงินทุน นอกจากนี้ ราคาทองคำและราคาน้ำมันก็ปรับตัวสูงขึ้น

นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า ปีนี้จะเป็นปีที่เงินทุนไหลเข้าออกค่อนข้างเร็ว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินของโลกปีนี้ค่อนข้างผันผวนมากขึ้น ของไทยเองก็มีเงินไหลเข้าออกมากขึ้น ค่าเงินมีความผันผวนมาก ดังนั้น นักลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนควรมีการป้องกันความเสี่ยงให้มาก ขึ้น ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นผู้ส่งออกและนำเข้ามีการทำป้องกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

สำหรับการดูแลค่าเงินบาทในช่วงที่ค่าเงินมีการเคลื่อนไหว 2 ทิศทางอย่างรวดเร็ว ธปท.คงใช้หลักการเดิม คือ ดูให้ค่าเงินสอดคล้องกับสถานการณ์นั้น ๆ โดยจะพยายามไม่ให้ค่าเงินเคลื่อนไหวเร็วจนเกินไปกว่าที่ภาคธุรกิจจะรับได้ ส่วนการลงทุนในตลาดพันธบัตรในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่า การลงทุนในตลาดพันธบัตรลดลงจากต้นปี ที่มีการลงทุนเข้ามาปริมาณมาก โดยวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา  มีการซื้อสุทธิ 1,000 ล้านบาท ขณะที่ตลาดหุ้นมีการซื้อลดลงสุทธิ 800 ล้านบาท.- สำนักข่าวไทย
 

ที่มา: MCOT

วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554

4+8(+ฯลฯ) = “สิมิลัน”เกาะสวรรค์อันสุดสวย

ที่มา : http://www.manager.co.th/
โดย : ปิ่น บุตรี

    

หาดทราย และหินเรือใบอันโดดเด่นแห่งเกาะแปด
       “พี่ มีทะเลที่ไหนแนะนำบ้าง หนูว่าจะลาพักร้อนไปเที่ยวช่วงเมษานี้” น้องคนหนึ่งถามผมมา
    
       “สิมิลัน” ผมตอบเธอในทันทีอย่างไม่เวิ่นเว้อลังเล
    
       เพราะสำหรับผมแล้ว สิมิลันคือเกาะสวรรค์ในดวงใจที่ไปเที่ยวกี่ทีก็ไม่มีเบื่อเลยสักครั้ง...
    
       1…
    
       ในบรรดาหมู่เกาะ ทะเลไทยสวยๆงามๆทั้งหลาย ผมยกให้“หมู่เกาะสิมิลัน” แห่งทะเลอันดามัน จ.พังงา มาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะนอกจากหมู่เกาะแห่งนี้จะงดงามปานแดนสวรรค์แล้ว ผมยังมีความทรงจำดีๆที่หมู่เกาะแห่งนี้มากมาย โดยเฉพาะในการเยือนสิมิลันครั้งแรกสมัยเป็นนักศึกษา ซึ่งเป็นยุคที่ผมมักจะเป็นโรค “ไม่มีตังค์แต่ดันทุรังอยากเที่ยว” และนั่นก็ทำให้ผมและเพื่อนๆรวม 6 คน ดันทุรังไปเที่ยวสิมิลันแบบซำเหมาไปตายเอาดาบหน้า มีเงินแค่จ่ายค่าเรือเที่ยวเกาะเฉพาะขาไป แต่ขากลับไม่มีสตางค์พอจ่ายค่าเรือแบบครบคน(เนื่องจากช่วงขาไปถูกโกง) จำเป็นต้อง(หน้าด้าน)ขออาศัยเรือของคนอื่นกลับมาแบบขอจ่ายเงินทั้งหมดเท่าที่มีติดตัวทุกคนอยู่รวมแล้วประมาณ 3 พันบาท
    
       แต่ประทานโทษ!!! ทริปนี้ผลสุดท้ายกลับกลายเป็นพวกผมสามารถโบก(ขออาศัย)“เรือรบหลวงสิมิลัน” เดินทางกลับขึ้นฝั่งที่ภูเก็ต(ฟรี)ได้อย่างเหลือเชื่อและสุดแสนประทับใจในน้ำมิตรไมตรีที่เหล่าพี่ทหารเรือหยิบยื่นให้
    
       เรื่องนี้เวลาเล่าให้ใครฟัง มีทั้งคนที่ไม่เชื่อและคนที่อิจฉา

                       

 นั่นเป็นเรื่องราวเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งการกลับไปเยือนสิมิลันหนหลังสุดนั้น แม้ความประทับใจที่ประสบพบเจอจะเทียบไม่ได้กับความทรงจำอันแสนเหลือเชื่อในครั้งแรก แต่สิ่งที่ดูแล้วแทบไม่แตกต่างไปจากอดีตก็คือ หมู่เกาะแห่งนี้ยังดูงดงามและบริสุทธิ์ไม่สร่างซา สมกับเป็นหมู่เกาะในดวงใจที่แม้นานๆจะได้มีโอกาสไปเยือนสักหน แต่ในทุกครั้งที่ไปเยือน ความงามบวกกับบรรยากาศที่พานพบและผูกพัน ต่างไม่เคยสร้างความผิดหวังให้เลยสักครั้ง
    
       2...
    
       จากข้อมูลทั่วไประบุว่า คำว่า"สิมิลัน"เป็นภาษายาวีหมายถึง เกาะทั้ง 9
    
       เดิมหมู่เกาะสิมิลันประกอบด้วยเกาะ 9 เกาะ คือ เกาะหนึ่ง(หูหยง) เกาะสอง(ปายัง) เกาะสาม(ปาหยัน) เกาะสี่(เมียง) เกาะห้า เกาะหก(ปายู) เกาะเจ็ด(หินปูซาร์) เกาะแปด(สิมิลัน) และเกาะเก้า(บางู)
                          

กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ทางกรมอุทยานฯได้ผนวกรวมเกาะตาชัยและเกาะบอนที่อยู่ในน่านน้ำละแวกเดียวกันเพิ่มเข้าไปอีก 2 เกาะ ทำให้หมู่เกาะสิมิลันปัจจุบันมี 11 เกาะด้วยกัน
    
       สำหรับผู้ที่มาเที่ยวสิมิลันและพักค้าง ทางอุทยานฯเขามีที่พักจัดไว้ให้บนเกาะเมียงหรือเกาะสี่ทั้งบ้านพักและที่กางเต็นท์แบบจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว
    
       เกาะสี่ เป็นเกาะใหญ่อันดับสองของหมู่เกาะสิมิลันนอกจากมีที่พักแล้ว ยังเป็นเกาะที่มีแหล่งน้ำจืดค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นเกาะที่ตั้งของที่ทำการอุทยานฯสิมิลัน-ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆตามความเหมาะสมกับสภาพการอยู่เกาะที่ไกลจากแผ่นดินใหญ่อยู่มากโขร่วม 70 กม.

                        
 นอกจากเป็นเกาะที่พักแล้ว เกาะสี่ยังเป็นเกาะท่องเที่ยวที่น่าสัมผัสไปด้วยทรัพยากรอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น "หาดหน้า" ที่น่าเดินไปด้วยผืนทรายขาวละเอียดย่ำแน่นนุ่มเท้า น่าเล่นน้ำไปด้วยท้องน้ำที่ใสแจ๋วแหววมองเห็นปลาแหวกว่าย มีแนวปะการังกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ ครั้งหนึ่งผมเคยเจอเจ้าปลาไหลเมอเร่ย์ว่ายมาทักทาย แม้เพียงแค่มาดำสน็อกเกิ้ลเล่นเท่านั้น ส่วนในการไปเที่ยวครั้งที่ผ่านมา ผมได้พบกับเจ้าเต่าทะเลตัวย่อมออกมาโชว์ตัวแหวกว่ายเล่นน้ำแบบแสนเชื่องกระไรปานนั้น
    
       จากหาดหน้าหากเดินตัดป่าไปอีกฟากหนึ่งของเกาะสี่ จะเป็น“หาดเล็ก”ที่แม้ขนาดและความงามอาจจะเป็นรองหาดหน้า แต่ว่าก็ได้เปรียบในเรื่องของความสงบเป็นส่วนตัวเข้ามาทดแทน
                                                                


 เสน่ห์ของเกาะสี่ยังไม่หมดแค่นี้ ที่นี่ยังมีจุดชมวิวลานข้าหลวงให้ขึ้นไปชมทิวทัศน์อันสวยงามกว้างไกล ส่วนยามเย็นก็ไม่ควรพลาดการเดินเลียบป่าขึ้นไปชมอาทิตย์อัสดงกลางอันดามัน ซึ่งขึ้นโชควาสนาของแต่ละคนว่าในวันที่ไปจะเห็นพระอาทิตย์ดวงกลมโตตกน้ำทะเลป๋อมแป๋มอย่างสวยงาม หรือเจอฟ้าปิดปกคลุมม่านเมฆหนาทึบ ชนิดที่ทำเอาหลายคนที่ตั้งใจเดินมารอชมบ่นอุบ

บนเกาะสี่ยังมีสัตว์ประจำถิ่นอย่าง “นกชาปีไหน” ตัวสีเขียวอมน้ำเงินมาเดินเล่นกระดุ๊ก กระดุ๊ก ให้พบเห็นอยู่เป็นประจำ รวมถึงมีอันซีนไทยแลนด์อย่าง ”ปู่ไก่”ปูตัวโตสีสันสวยงามร้องเสียงคล้ายไก่ออกมาปรากฏโฉมอย่างคึกคักเป็นจำนวนมากเมื่อย่ำยามราตรีมาเยือน ในบริเวณผืนป่าห่างจากที่ทำการอุทยานฯไปไม่เท่าไหร่ ซึ่งพวกมันจะพร้อมใจกันออกจากรู(บ้านของมัน)มาหากิน และเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวไปซุ่มส่องดูมันใช้ชีวิตกันแบบใครตาดีได้ ตาร้ายอด

                        

 3…
    
       “สิมิลัน” ไม่เพียงเป็นชื่อของหมู่เกาะที่หมายถึงเกาะทั้ง 9 เท่านั้น หากแต่ยังเป็นชื่อเกาะที่ใหญ่ที่สุดสำคัญที่สุด และโดดเด่นที่สุดในหมู่เกาะแห่งนี้ นั่นก็คือเกาะสิมิลันหรือเกาะแปดอันลือลั่น
    
       เกาะแปด เป็นเกาะบังคับที่ใครเมื่อมาเที่ยวหมู่เกาะสิมิลันแล้วหากไม่ได้ไปสัมผัสน้ำทะเลเกาะแปดก็เหมือนกับว่ายังมาไม่ถึงสิมิลัน
    
       บนเกาะแปดชวนเพริศแพร้วไปด้วยธรรมชาติอันสวยงามพิสุทธิ์ ที่บริเวณหน้าเกาะมีหาดทรายละเอียดขาวเนียนราวกับแป้งผัดหน้าสาว ซึ่งหากว่าทรายที่นี่สามารถผัดหน้าสาวได้สวยแจ่มจริงป่านนี้ทรายที่นี่คงถูกลักขโมยไปหมดเกลี้ยงแล้ว

                        

 หาดทรายเกาะแปดมีลักษณะเป็นหาดกว้างและโค้งยาวคล้ายเกือกม้า มีน้ำทะเลใสแจ๋ว ยามต้องแสงแดดจะส่องประกายระยิบพริบพราย ส่วนรอบๆบริเวณนั้นก็สมบูรณ์ไปด้วยกองหิน แนวปะการัง และปลาสวยๆงามๆมากมาย และที่นี่ในการไปเที่ยวหนล่าสุดผมก็ได้พบกับเจ้าเต่าทะเลอีกแล้วครับทั่น แถมยังแหวกว่ายเล่นน้ำทะเลให้ชมกันถึง 2 ตัวเลยทีเดียว
    
       ความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อีกประการของเกาะแปดก็คือ ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ให้เกาะแห่งนี้มีหินรูปร่างประหลาดเป็นดังประติมากรรมธรรมชาติปรากฏอยู่ทั่วไป โดยมีหินรูปร่างแปลกๆไม่มีชื่อเป็นหินพระอันดับ และมีหินพระรองเป็น "หินรองเท้าบู้ท"หรือ"หินโดนัลท์ดัก" ที่ตั้งตระหง่านโชว์ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติอยู่ทางด้านทิศเหนือของเกาะ ส่วนหินพระเอกของเกาะนั้นก็คือ“หินเรือใบ”ที่ถือเป็นไฮไลท์ประจำเกาะและเป็นดังสัญลักษณ์ของหมู่เกาะแห่งนี้

                      

หินเรือใบ เป็นหินก้อนโตลักษณะคล้ายหมวกใบใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่บนผาหินริมหาดแบบชวนทึ่ง เพราะมันดูเหมือนจะตกแต่ไม่ตก จนหลายๆคนอดสงสัยไม่ได้ว่ามันตั้งอยู่ได้อย่างไร
    
       บนที่ตั้งหินเรือใบ ถือเป็นจุดชมวิวสำคัญแห่งสิมิลัน ใครที่ไปเยือนเกาะนี้แล้วพอมีกำลังวังชา ไม่ควรพลาดการเดินลุยผาหินขึ้นไปบนจุดชมวิวหินเรือใบด้วยประการทั้งปวง ซึ่งเมื่อผมลงทุนลงแรงปีนป่ายอย่างสมบุกสมบันขึ้นไปถึงบนนั้นเป็นที่เรียบร้อย บรรยากาศที่พานพบมันทำให้ความเหน็ดเหนื่อยที่เดินลุยขึ้นมาหายเป็นปลิดทิ้ง
    
       บนจุดชมวิวหินเรือใบนอกจากมีสายลมลมเย็นๆพัดพลิ้วปะทะร่างกายคลายร้อนให้ชุ่มชื่นชูใจแล้ว วิวทิวทัศน์บนนี้ยังน่าตื่นตาตื่นใจ ดูสวยงามไปด้วยหาดยาวขาวเนียนทอดตัวโค้งรับไปกับท้องทะเลกว้างไกล อีกทั้งยังสามารถมองเห็นถึงความแตกต่างของสีน้ำทะเลช่วงตื้นกับช่วงลึกอย่างชัดเจน ช่วงน้ำลึกไกลชายฝั่งออกไปน้ำทะเลจะเป็นสีน้ำเงินเข้ม ครั้นพอถึงช่วงใกล้ชายฝั่งสีน้ำทะเลจะไล่โทนเข้ามาเป็นน้ำเงินอ่อน ฟ้า ไปจนถึงเขียวอมฟ้าจางๆในช่วงน้ำตื้น
    
       นับเป็นความงามที่ธรรมชาติบรรจงสรรค์สร้างให้ชนิดที่ไม่มีจิตรกรเอกคนใดในจักรวาลสร้างสรรค์ได้

                   

  4…
    
       “พี่ มีทะเลที่ไหนแนะนำบ้าง หนูว่าจะลาพักร้อนไปเที่ยวช่วงเมษานี้” น้องคนหนึ่งถามผมมา
    
       “สิมิลัน” ผมตอบเธอในทันทีอย่างไม่เวิ่นเว้อลังเล
    
       เพราะสำหรับผมแล้ว สิมิลันคือเกาะสวรรค์ในดวงใจที่ไปเที่ยวกี่ทีก็ไม่มีเบื่อเลยสักครั้ง...
    
       ...เพียงแต่ว่าต้องไปให้ถูกช่วง ถูกจังหวะเวลา และที่สำคัญยิ่งก็คือ ควรไปกับแฟนหรือไปกับเพื่อนรู้ใจเป็นดีที่สุด
    
       ซึ่งหลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน น้องคนนั้นก็จองแพ็คเกจไปเที่ยวสิมิลันเป็นที่เรียบร้อยโรงเรียนอันดามัน

"เอาบทความท่องเที่ยวมาฝาก  เห็นแล้วก็เกิดอยากไปเที่ยวขึ้นมา  ดีเหมือนกันเนอะหลังจากติดตามข่าวที่เครียดๆเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ  ก็ลองไปเที่ยวพักผ่อนตามสถานที่ท่องเที่ยวในบทความกันดูนะคะ"

"ปะการังฟอกขาว" สร้างโอกาสจากวิกฤตเพื่อท้องทะเลไทย

                                     

  “ปะการัง...ปะการัง...งามล้ำค่า ช่วยกันรักษา...
       เจ้าไข่มุกเอเซีย ต้องเสียหาย
       โอ้ปักษ์ใต้บ้านเรา นั้นแย่แล้ว
       ใต้ทะเลไม่เหลือ ไม่เห็นแนว
       พังระเบิดเป็นแถว ปะการัง...”
      
       เพลง“ปะการัง” ของวง“ซูซู” ดูจะเข้ากับบรรรยากาศของสภาพปะการังในบ้านเราช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาไม่น้อยเลย เพียงแต่ว่างานนี้เปลี่ยนบริบทจากการถูกระเบิดทำลายกลายมาเป็น วิกฤตการณ์ “ปะการังฟอกขาว”แทน
      
       ปะการังฟอกขาว ใครทำ???
      
       ปะการังฟอกขาว เกิดจาก“สาหร่ายซูแซนเทลลี่”ที่อาศัยอยู่ภายในเนื้อเยื่อปะการังซึ่งทำหน้าที่สร้างสีสันและสังเคราะห์แสงให้พลังงาน แยกตัวออกมา ทำให้ตัวปะการังสีซีดลงกลายเป็นเนื้อเยื่อใสๆคล้ายวุ้นคลุมส่วนโครงสร้างที่เป็นหินปูน มองเห็นเป็นสีขาว เทา หรือน้ำตาล
      
       สาเหตุหลักในการเกิดปะการังฟอกขาวมาจากอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นเกินกว่าปกติ ซึ่งโดยปกติอุณหภูมิของน้ำทะเลจะอยู่ที่ 28-29 องศาเซลเซียส แต่ถ้าอุณหภูมิน้ำทะเลเกิดสูงเกิน 30.1 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลาเกิน 3 สัปดาห์ขึ้นไป ปะการังจะปรับทำตัวให้เกิดปะการังฟอกขาวขึ้นมา
      
       ในอดีตปะการังฟอกขาวตามธรรมชาติจะสัมพันธ์กับปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำในมหาสมุทร ครั้นเอลนีโญผ่านพ้นไปปะการังก็จะใช้เวลาพักฟื้นแล้วกลับมามีสีสันสวยงามอีกครั้ง โดยบ้านเราในช่วงปี พ.ศ. 2540-41 ก็เคยเกิดปะการังฟอกขาวที่ค่อนข้างรุนแรงเหมือนกัน แต่นั่นยังไม่เท่ากับการเกิดปะการังฟอกขาวในปัจจุบันที่เป็นข่าวฮือฮาในทุกวันนี้
      
       ปะการังฟอกขาวหนนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นไปทั่วแถบภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ทั้งอินเดีย ศรีลังกา มัลดีฟ ซีเชลส์ พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย
      
       ส่วนที่เกิดบ้านเรานั้นถือว่าถือว่ารุนแรงที่สุดในประวัติการณ์ เป็นวิกฤตปะการังฟอกขาวที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 ขยายต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าไม่หาทางป้องกันเยียวยาให้ดี ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ มันไม่ได้เกิดเฉพาะแค่ปะการังตายเท่านั้น หากแต่มันกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ทั้งทำให้จำนวนปลาลดลง ส่งผลต่อไปยังเรื่องของการประมง แหล่งอาหารทางทะเลของมนุษย์ การท่องเที่ยว การกัดเซาะชายฝั่ง รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทางทะเลด้วย
      
       สำหรับการเกิดวิกฤตปะการังฟอกขาวครั้งนี้ ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ ผู้รู้ ต่างออกมาให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า
      
       ...การเกิดปะการังฟอกขาวในครั้งนี้ เกิดจากเอลนีโญที่มาจากสภาวะโลกร้อนเป็นหลัก...
      
       แล้วสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหนทำ หากแต่มาจากน้ำมือมนุษย์เรานั่นเอง
      
       ปะการังฟอกขาวย้อนคืนสู่มนุษย์
      
       ช่วงปะการังฟอกขาวเริ่มเป็นข่าวดัง ผมกำลังเริงร่าล่องใต้ทัวร์มาราธอนตามหมู่เกาะท้องทะเลในอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม หมู่เกาะเภตรา และหมู่เกาะตะรุเตา แห่งท้องทะเลอันดามันระหว่างทะเลตรังกับทะเลสตูลอยู่พอดี
      
       ครั้นพอกลับขึ้นมากรุงเทพฯมีหลายคนคนถามว่า “ทะเลอันดามันไปเที่ยวได้หรือ เห็นข่าวออกมาว่าเขาปิดอุทยานฯหลายที่หนิ”
      
       เอ้า...กลายเป็นเรื่องปิดอุทยานแห่งชาติทางทะเลหลายแห่งไปเสียฉิบ ทั้งที่ความจริงอุทยานฯทางทะเลยังเที่ยวได้ตามปกติ เพียงแต่ว่าทางกรมอุทยานฯเขาประกาศ “งดกิจกรรมดำน้ำบางจุด”หรือพูดง่ายๆว่า“ปิดพื้นที่ดำน้ำบางจุด”ในอุทยานฯทางทะเลบางแห่ง ย้ำนะครับว่า“ปิดพื้นที่ดำน้ำบางจุด” ไม่ได้ปิดอุทยานฯ ห้ามคนเข้าไปเที่ยวแต่อย่างใด นอกจากนี้กิจกรรมทางทะเลทั่วไป เช่น เล่นน้ำชายฝั่ง เดินชายหาด ชมทิวทัศน์ ท่องราตรี(ในบางพื้นที่) หรือดำน้ำในจุดที่อนุญาตไม่ใช่จุดต้องห้าม ก็ยังคงสามารถทำได้ตามปกติ
      
       โดยอุทยานฯที่ทำการปิดพื้นที่ดำน้ำบางจุด ณ เวลานี้ มี 7 อุทยานฯด้วยกัน ได้แก่ 1. อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง บริเวณเกาะเชือก 2. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล บริเวณเกาะบุโหลนไม้ไผ่ เกาะบุโหลนรังผึ้ง 3. อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล บริเวณเกาะตะเกียง เกาะหินงาม เกาะราวี หาดทรายขาว เกาะดง
      
       4. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร บริเวณเกาะมะพร้าว 5. อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี บริเวณแนวปะการังบริเวณหินกลาง 6. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา บริเวณอ่าวสุเทพ อ่าวไม้งาม เกาะสตอร์ค หินกอง อ่าวผักกาด และแนวปะการังหน้าที่ทำการอุทยาน 7. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา บริเวณอ่าวไฟแว๊ป และอีส ออฟ อีเด็น
      
       อย่างไรก็ดีการเลือกปิดพื้นที่ดำน้ำบางจุดของกรมอุทยานฯ วัตถุประสงค์เท่าที่ผมจับจากข่าวก็เพื่อไม่ให้คน(นักท่องเที่ยว)เข้าไปซ้ำเติมเหตุการณ์ให้มันเสื่อมเร็วและแย่ลงมากขึ้น เพราะหากเป็นปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวตามธรรมชาติปกตินั้นมันสามารถฟื้นตัวได้ อย่างเร็วอาจแค่ 1 ปี อย่างช้าอาจถึง 5 ปี
      
       แต่กลับวิกฤตปะการังฟอกขาวครั้งนี้ยังไม่มีใครสรุปได้ว่าจะใช้เวลาฟื้นตัวแค่ไหน ยิ่งถ้าไม่หาทางป้องกันเยียวยาให้ดี ผลที่เกิดขึ้นตามมา มันไม่ได้เกิดเฉพาะแค่ปะการังตายจำนวนมากเท่านั้น หากแต่มันส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทางทะเล และเกิดผลกระทบอื่นตามมา ทั้งทำให้จำนวนปลาลดลง แหล่งอาหารทางทะเลของมนุษย์ร่อยหรอ และส่งผลต่อไปยังเรื่องของการประมง การท่องเที่ยว ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
      
       เรียกว่าเมื่อมนุษย์เป็นตัวเอี่ยวสำคัญในการก่อวิกฤต ผลเอี่ยวจากการกระทำมันก็ย้อนศรกลับมากระทบต่อมนุษย์เราแบบไม่มีทางหลีกเลี่ยง
      
       สร้างโอกาสจากวิกฤต
      
       แม้วิกฤตปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นจะอยู่ในขั้นรุนแรง แต่เราไม่ควรตื่นตระหนกจนเกิดเหตุ หากแต่ควรตื่นตัวต่อสภาวะโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เพราะปัญหาทะเลไทยที่ผ่านมามาได้มีเฉพาะเรื่องปะการังฟอกขาวเท่านั้น แต่มันมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การกัดเซาะชายฝั่ง การจับสัตว์น้ำแบบเกินพอดี การระเบิดปลา ทำลายปะการัง การลักลอบนำปะการังไปขาย การทำอวนลาก อวนรุน การพัฒนาเมือง พัฒนาทางวัตถุโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ ฯลฯ
      
       ในขณะที่ถ้าโฟกัสให้แคบลงมาเฉพาะในมิติของการท่องเที่ยว ที่ผ่านมาท้องทะเลไทยเราได้รับผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยวไม่น้อยเหมือนกัน ทั้งจาก นายทุนบุกรุกท้องทะเลสร้างรีสอร์ท โรงแรม การปล่อยน้ำเสีย ขยะ ตะกอน ของผู้ประกอบการลงสู่ทะเล การมักง่ายทิ้งขยะลงทะเลของนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวดำน้ำตื้นไปเหยียบยืนทำลายปะการังจนตายทั้งพวกที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์และพวกที่ตั้งใจ เรือนำเที่ยวทิ้งของเสียลงทะเล หรือแม้กระทั่งการรับใต้โต๊ะของเจ้าหน้าที่อุทยานฯบางคนดังที่ปรากฏเป็นข่าว
      
       ซึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนี้นอกจากการปิดพื้นที่ดำน้ำบางจุดแล้ว ผู้เกี่ยวข้องควรให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวในเรื่องปะการังฟอกขาว สร้างจิตสำนึกการท่องเที่ยวอย่างถูกวิธีที่แม้จะต้องพูดแล้วพูดอีกพูดซ้ำพูดซากก็คงต้องทำกันต่อไป เพราะหากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังคงเที่ยวกันแบบไร้สำนึก ทิ้งขยะ ของเสียลงทะเล ขโมยเก็บทรัพยากรนำกลับมา ไปเหยียบยืนบนปะการัง ไม่ว่าปะการังฟอกขาวหรือปะการังดีมันก็ถูกทำลายไม่ต่างกัน
      
       และภาครัฐ นับแต่นี้ไปคงต้องเอาจริงเอาจังต่อการปฏิบัติหน้าที่กันเสียที ผู้ประกอบการคนใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของอุทยานฯ หากถูกจับได้ ต้องจัดการให้เด็ดขาด อย่าให้เอาเยี่ยงอย่าง เจ้าหน้าที่คนไหนทุจริตคอร์รัปชั่นต้องไล่ออกอย่าให้เป็นเยี่ยงอย่าง นายทุนคนไหนรุกล้ำที่ทั้งทางบกทางทะเลต้องอย่าปล่อยไว้ แม้หลายคนจะใหญ่มากเป็น“ตอยักษ์”ไม่สามารถจัดการได้ก็ต้องหาลู่ทางทำให้สื่อ ให้สังคมรับรู้ เพื่อสกัดยับยั้งไม่ให้เชื้อชั่วขยายผล
      
       ส่วนทางด้านผู้ประกอบการท่องเที่ยวก็ต้องไม่ทำมาหากินแบบละโมบ แต่เน้นที่ความยั่งยืนแทน และต้องให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ รวมถึงช่วยดูและตักเตือนนักท่องเที่ยวที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์หลงทำผิดไปบ้าง
      
       นอกจากนี้อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือเรื่องของการบริหารจัดการการท่องเที่ยว การการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวพักค้างบนอุทยานฯ จำกัดจำนวนคนดำน้ำในพื้นที่สุ่มเสี่ยงหลายจุด เป็นต้น
      
       สำหรับเรื่องเหล่านี้แม้อาจดูฝันเฟื่อง เป็นอุดมคติ แต่อย่างน้อยการที่พวกเราโดยเฉพาะผู้เกี่ยวข้องได้ทำอะไรบ้างในทางที่ช่วยให้ดีขึ้น
      
       มันย่อมดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย

โดย : ปิ่น บุตรี
ที่มา : www.manager.co.th/

หลายคำถามกับปะการังฟอกขาว (1)

                           


เหตุการณ์ปิดจุดดำน้ำในเขตอุทยานอันเนื่องมาจากผลกระทบของปะการังฟอกขาว ทำให้เกิดเสียงฮือฮาในสังคม มีคำถามมากมายเกิดขึ้นเกี่ยวกับท้องทะเลไทย ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอคั่นจังหวะการไปฝรั่งเศสไว้หนึ่งตอน เพื่อบอกเล่าแนวคิดของผมเกี่ยวกับคำถามเหล่านี้ครับ
       
       ปะการังฟอกขาวเพิ่งเกิดเหรอ ? - หากใครติดตามข่าวสารเกี่ยวกับทะเลไทย อาจจำได้ว่าเราเคยมีข่าวเกี่ยวกับปะการังฟอกขาวเมื่อกลางปี 2553 แต่ถ้านับข้อมูลที่รายงานโดยนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล เราทราบเหตุการณ์มาตั้งแต่ต้นปีก่อน และเริ่มพยายามหาทางรวบรวมข้อมูลเรื่อยมา เช่น ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ได้ลงพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงการศึกษาวิจัยใน “โครงการสำรวจและจัดทำข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่วิกฤตทางความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Hotspots) จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล” ภายใต้ความสนับสนุนของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้เรามีโอกาสติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับแนวปะการังในกลุ่มจังหวัดเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง
       
       เหตุการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่เกิดมาตั้งแต่ต้นปีถึงกลางปีก่อน จนสถานการณ์ผ่านพ้นไปหมดแล้ว ปัจจุบัน เรากำลังรับมือจากผลของปะการังฟอกขาวที่ทำให้เกิดปะการังตายในหลายพื้นที่ทั่วทะเลไทย มิใช่รับมือกับปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว
       
       แล้วทำไมเพิ่งฮือฮา ? - สำหรับสังคมแล้ว นี่อาจเป็นเรื่องเพิ่งฮืฮฮา แต่สำหรับเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล เราติดตามสถานการณ์นี้มาตลอด หากจำกันได้ ผมเขียนเรื่อง “ความตายสีขาว” ใน “ผู้จัดการ” ในเดือนพฤศจิกายน 2553 โดยบอกรายละเอียดต่าง ๆ ไว้แล้วบ้าง กลุ่มนักดำน้ำบางท่านก็ไปเห็นเหตุการณ์จริง และเป็นกระทู้ในเว็บไซต์บางแห่งมาตลอด
       
       ความหมายของ “ฮือฮา” เกิดเมื่อกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ประสานกับเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล เห็นว่าสถานการณ์ไม่สู้ดี ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมยังไม่รับทราบปัญหา อีกทั้งฤดูการท่องเที่ยวกำลังเริ่มต้นแล้ว จึงออกมาแถลงข่าวเพื่อรายงานสถานการณ์จริงให้เป็นที่รับทราบ ตามด้วยข้อเสนอแนะในการปิดพื้นที่บางแห่งไม่ให้ท่องเที่ยว จากนั้นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงเรียกประชุมกลุ่มนักวิชาการและเจ้าหน้าที่อุทยาน เพื่อหาทางออกร่วมกัน ก่อนกลายเป็นการแถลงข่าวในภายหลัง
       
       เมื่อเทียบกับสึนามิแล้วเป็นเช่นไร ? - ภัยพิบัติตามธรรมชาติที่เกิดผลกระทบรุนแรงกับแนวปะการังไทย แยกง่าย ๆ เป็น 3 แบบ อันดับแรกคือพายุ เช่น พายุไต้ฝุ่นเกย์ทำให้ปะการังในเกาะเต่าและหมู่เกาะชุมพรแตกหักเป็นจำนวนมาก อันดับที่สองคือสึนามิ ทำให้ปะการังหลายพื้นที่ในทะเลอันดามันเกิดความเสียหาย อันดับสุดท้ายคือปะการังฟอกขาวที่เคยเกิดในทะเลไทยอย่างรุนแรงมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง เช่น ปี 2540-41
       
       ปะการังฟอกขาวเกิดผลกระทบต่างจากไต้ฝุ่นหรือสึนามิ ในสองกรณีนั้น ปะการังจะแตกหักจากความรุนแรงของคลื่นและกระแสน้ำ จุดที่ตั้งของแนวปะการังจึงเกี่ยวข้องกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวปะการังในร่องน้ำหรือจุดที่คลื่นพัดผ่านย่อมเกิดผลรุนแรง แนวปะการังที่ไม่โดนคลื่นหรือโดนน้อยย่อมเกิดผลเบากว่า ผิดจากเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำทะเลแบบผิดปรกติ น้ำร้อนไปถึงทุกที่ซึ่งมีแนวปะการัง ทำให้ผลกระทบกระจายกว้างกว่า อย่างไรก็ตาม จุดที่ตั้งของแนวปะการังอาจมีความเกี่ยวข้องอยู่บ้าง เช่น แนวปะการังบริเวณที่มวลน้ำไหลเวียนดี อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่า แต่ไม่มากนัก
       
       ชนิดของปะการังยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ปะการังเขากวาง ปะการังพุ่ม ปะการังแผ่นตั้งและแผ่นนอน จะได้รับผลกระทบมากกว่าปะการังก้อน โดยเฉพาะปะการังเขากวางที่ตายเกือบหมด อ่าวหลายแห่งที่มีปะการังเขากวางจำนวนมาก เช่น เกาะตอรินลา หมู่เกาะสุรินทร์ จะได้รับผลกระทบสูง จนเหลือปะการังที่รอดชีวิตไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ผิดจากแนวปะการังที่มีปะการังก้อนเป็นหลัก อาจมีปะการังที่รอดชีวิตมากกว่าครึ่ง
       
       เมื่อเทียบความรุนแรงกับภัยพิบัติต่าง ๆ ที่ผ่านมา รวมทั้งเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวในอดีต เราถือว่าครั้งนี้คือเหตุการณ์รุนแรงที่สุด เพราะเราได้รับผลกระทบในแทบทุกเกาะทั้งสองฝั่งทะเล ไม่ใช่เฉพาะแต่ในทะเลอันดามัน แม้แต่การปิดจุดดำน้ำในอุทยานฯ ยังรวมถึงบางแห่งในอ่าวไทย เช่น เกาะพร้าว อุทยานฯหมุ่เกาะชุมพร
       
       ปิดอุทยานหมายความว่าอย่างไร ? - นี่คือข้อความที่ต้องอธิบายให้กระจ่าย การปิดอุทยานแห่งชาติ หมายถึงไม่เปิดให้บริการด้านการท่องเที่ยวนันทนาการ เป็นอำนาจของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แต่การปิดพื้นที่ดำน้ำในอุทยานฯ เป็นอำนาจของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ ไม่จำเป็นต้องรออธิบดีออกคำสั่ง
       
       สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือการ “ปิดพื้นที่ดำน้ำ” มิใช่ “ปิดอุทยาน” เราสามารถไปหมู่เกาะสุรินทร์ สิมิลัน พีพี ฯลฯ ตามปรกติ แต่เราอาจไม่สามารถดำน้ำในบางพื้นที่ซึ่งถูกปิด ในพื้นที่เหล่านั้นจะไม่มีทุ่นจอดเรือ แต่มีทุ่นสีขาวขึงไว้กั้นแทน อุทยานฯ แต่ละแห่งยังประสานกับกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ เพื่อแจ้งให้ทราบ
       
       ปิดแล้วช่วยได้จริงหรือ ? - คำถามนี้ไม่มีคำตอบที่แน่ชัด ในอดีตเราเคยปิดจุดดำน้ำแฟนตาซี หมู่เกาะสิมิลัน เพราะผลกระทบจากนักดำน้ำที่มีมากเกินไป หลังจากปิดมาแล้วเกือบสิบปี สภาพปะการังอ่อนและกัลปังหาฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่ เช่น อ่าวแม่ยาย หมู่เกาะสุรินทร์ ได้รับผลกระทบจากปะการังฟอกขาวในปี 2538 ปะการังเขากวางตาย มีสาหร่ายเห็ดหูหนูขึ้นคลุมพื้นที่หลายตารางกิโลเมตร เราจึงปิดพื้นที่นั่นติดต่อกันจนถึงปัจจุบัน แต่ผลที่เกิดขึ้นไม่ชัดเจน สาหร่ายอาจหายไปบ้าง แต่ก็กลับมาบ้าง หากดูการฟื้นตัวของแนวปะการังเขากวางนับว่าช้ามาก
       
       การ “ปิด” จึงไม่ใช่วิธีการที่ยืนยันว่าจะได้ผล พื้นที่เปิดให้บริการบางแห่งอาจฟื้นตัวเร็วกว่าพื้นที่ปิดให้บริการ เพราะฉะนั้น การปิดพื้นที่จึงต้องกระทำควบคู่ไปกับการศึกษาวิจัย เพื่อติดตามการฟื้นตัวที่เกิดขึ้น รวมถึงหาแนวทางให้เหมาะสมในการจัดการ เพราะสำหรับธรรมชาติแล้ว เวลาเพียงหนึ่งปีหรือสิบปีน้อยนิดยิ่งนัก เมื่อเทียบกับเวลากว่า 8,000 ปีที่แนวปะการังอยู่คู่ประเทศไทย (แนวปะการังหมู่เกาะสุรินทร์เก่าแก่ที่สุด) หรือเวลา 400 ล้านปีที่ปะการังอยู่คู่โลก (ปะการังคือสัตว์โบราณที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก ควบคู่มากับฟองน้ำ)
       
       การปิดครั้งสำคัญเกิดขึ้นในช่วงคลื่นสึนามิ แต่ครั้งนั้นเป็นการปิดทั้งอุทยานเนื่องจากเกิดความเสียหายอย่างหนักบนแผ่นดิน รวมถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว รวมถึงการปิดจุดดำน้ำในแทบทุกพื้นที่ การติดตามผลเห็นการฟื้นตัวของปะการังอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้อาจแตกต่างกัน เพราะผลที่เกิดขึ้นจากคลื่นสึนามิคือปะการังแตกหัก สามารถงอกใหม่ได้รวดเร็ว (ยกเว้นในพื้นที่โดนตะกอนทรายทับที่ไม่สามารถฟื้นคืนได้) แต่ครั้งนี้ปะการังตาย ที่เหลือแม้จะรอดอยู่ แต่อยู่ในสภาพอ่อนแอ การฟื้นตัวจึงแตกต่างกัน ยิ่งถ้าคิดถึงสาหร่ายทะเล
       
       สาหร่ายเกี่ยวข้องอย่างไร ? - แนวปะการังไม่ได้มีเพียงปะการัง แต่ยังมีสาหร่ายหลายชนิดเป็นคู่แข่งสำคัญ สาหร่ายจะพยายามแย่งพื้นที่การลงเกาะ หากเป็นแนวปะการังในสภาพสมบูรณ์ ปะการังจะชนะสาหร่ายในเกือบทุกพื้นที่ แต่หากแนวปะการังผิดปรกติ สภาพการณ์อาจเปลี่ยนไป สาหร่ายจะชนะแนวปะการังและยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ ดังเช่นแนวปะการังหลายแห่งในอ่าวไทยที่เปลี่ยนไปเป็นแนวสาหร่าย กลายเป็นพื้นที่ไร้ประโยชน์ในด้านการดำน้ำ รวมถึงเป็นพื้นที่ซึ่งไม่มีความหลากหลาย ไม่สามารถเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนได้เหมือนแนวปะการัง
       
       ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้ให้ละเอียด เพื่ออธิบายให้พวกเราเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่า เราอาจเผชิญกับเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวอีกในอนาคตไม่ไกล เพราะฉะนั้น คงต้องขอต่อตอนสองในสัปดาห์หน้าครับ

ผู้แต่ง : ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
ที่มา : http://www.manager.co.th/

วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

โพลชี้ประชาชนไม่เห็นด้วย ขายไข่แบบเป็นกิโลกรัม



กทม.-ปริมณฑล โดยพบว่า ประชาชนไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวกว่าร้อยละ 66.29 ซึ่งหากเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียประชาชนยังมองว่า มีข้อเสียมากกว่า

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สอบถามความคิดเห็นจากประชาชนในกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล กรณีไข่ชั่งกิโลจำนวนทั้งสิ้น 1,262 คน ระหว่างวันที่ 20-22 มกราคม 2554 พบว่า ประชาชนร้อยละ44.38 มองว่า เป็นข่าวที่ทุกคนพูดถึงและสนใจติดตาม เนื่องจากไข่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำอาหารและขนม ส่วนอันดับ 2 ประชาชนร้อย 25.43 มองว่า มีทั้งข้อดี-ข้อเสียคงต้องรอดูผลจากการทดลองขายไข่ก่อน 3 เดือนว่าเป็นอย่างไร อันดับ 3 ประชาชนร้อยละ 22.78 มองว่า สร้างความยุ่งยากแก่ผู้ซื้อ และ ผู้ขาย โดยผู้เลี้ยงไก่รายใหญ่ได้รับประโยชน์มากกว่า และ อันดับสุดท้าย ร้อยละ 7.41% มองว่า เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ซื้อ รัฐบาลยังไม่ได้มีการประกาศหรือบังคับใช้

นอกจากนี้จากการสำรวจความเห็นประชาชนต่อนโยบายดังกล่าวโดยข้อดีประชาชนร้อย ละ 47.54% มองว่า ช่วยลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการคัดแยกไข่ และ ร้อยละ 28.11% มองว่า ผู้บริโภคซื้อไข่ได้ในราคาถูกมีมาตรฐานเดียวกัน ขณะที่ร้อยละ 24.35% ได้ไข่ที่มีขนาดเล็กใหญ่คละกันไป

ส่วนข้อเสียประชาชนกว่าร้อยละ 43.31% มองว่า สร้างความยุ่งยากให้ทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย และ ร้อยละ 40.09% ผู้ซื้ออาจถูกพ่อค้า แม่ค้าโกงตาชั่ง ส่วนร้อยละ 16.60 มองว่า มีปัญหาในการคิดเงินกรณีไข่ไม่ถึงกิโลหรือเกินกิโล

ขณะที่เปรียบเทียบระหว่างข้อดี-ข้อเสียของการขายไข่ชั่งกิโล โดยอันดับ 1 ข้อเสียมากกว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 56.63% เชื่อว่า ไม่สามารถแยกซื้อไข่แบบเป็นฟองได้ ,ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย , ผู้ซื้ออาจถูกโกงตาชั่ง ฯลฯ ส่วนอันดับ 2 ร้อยละ 29.52 มองว่ามีข้อดี-ข้อเสียพอๆกัน เพราะเป็นนโยบายที่รัฐบาล และ กระทรวงพาณิชย์ต่างพิจารณาเห็นชอบร่วมกัน แต่ในทางปฏิบัติยังมีปัญหาอยู่ ฯลฯ และ อันดับ 3 ร้อยละ 13.85 มองว่ามีข้อดีมากกว่า เพราะช่วยลดขั้นตอนลดต้นทุนในการคัดแยกไข่ ,ซื้อไข่ได้ในราคาที่ถูกลง ,มีมาตรฐานในการขายเหมือนกันทุกพื้นที่ ฯลฯ

ส่วนประชาชนเห็นด้วยกับการขายไข่ชั่งกิโลหรือไม่ โดยอันดับ 1 ประชาชนกว่าร้อยละ 66.29 ไม่เห็นด้วย เพราะซื้อแบบเดิมดีอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่ยุ่งยากเกินไป ควรแก้ปัญหาที่ต้นทุนการผลิตมากกว่า ฯลฯ อันดับ 2 ร้อยละ 21.65%ไม่แน่ใจ เพราะ เป็นแค่เพียงการทดลองขายเบื้องต้นยังไม่ได้บังคับใช้แต่อย่างใดยังไม่รู้ว่า ใครจะได้ประโยชน์จริง ฯลฯ และ อันดับ 3 ร้อยละ 12.06 ประชาชนเห็นด้วย เพราะ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อไข่ สร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ซื้อและผู้ขาย ฯลฯ
 

ที่มา: ทีวีไทย